สิ่งที่สำคัญในงานก่อสร้างอีกอย่างหนึ่งคือการจัดการระบบน้ำ ทั้งที่อยู่ภายนอกอาคารอย่างระบบระบายน้ำ และระบบภายในอาคารอย่างระบบท่อน้ำทิ้ง เพื่อให้การวางท่อระบายน้ำนั้นออกมาอย่างถูกต้องตามจุดประสงค์ในการใช้งาน และสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการฝังท่อระบายน้ำจึงต้องมีการใช้ผู้เชี่ยวชาญในการสำรวจ วิเคราะห์ วางแผน เพื่อออกแบบการวางท่อระบายน้ำ ทำการเจาะฝังท่อได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงจะได้ทำอย่างถูกต้องตามกฎเกณฑ์ของแต่ละพื้นที่ ทั้งนอกอาคาร และในอาคาร อีกทั้งการวางท่อระบายน้ำ เป็นงานที่ต้องพิจารณาหลาย ๆ ด้าน ทั้งสภาพภูมิประเทศของพื้นที่ ปริมาณน้ำในพื้นที่ ตำแหน่งของการวางท่อระบายน้ำ เป็นต้น โดยในบทความนี้เราจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักเกี่ยวกับการฝั่งท่อระบายน้ำ และสิ่งที่ควรทำก่อนการฝังท่อ
การฝังท่อระบายน้ำคืออะไร ทำไมต้องฝังท่อ?
การฝังท่อระบายน้ำ คือกระบวนการในการติดตั้งท่อใต้ดิน เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของระบบระบายน้ำ ซึ่งมีหน้าที่หลักในการนำพาน้ำเสีย น้ำฝน หรือน้ำที่เป็นส่วนเกินออกจากพื้นที่นั้น ๆ เพื่อไม่ให้เกิดน้ำขัง น้ำท่วม ในบริเวณพื้นที่ต่าง ๆ โดยการฝังท่อระบายน้ำยังเป็นกระบวนการสำคัญที่นำมาใช้ในงานก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน อาคาร พื้นที่ชุมชน โดยวัตถุประสงค์ในการฝังท่อระบายน้ำได้แก่
- ป้องกันน้ำท่วมและน้ำขัง: การฝังท่อระบายน้ำช่วยระบายน้ำส่วนเกินในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นน้ำฝน หรือน้ำทิ้ง เพื่อให้น้ำระบายออกจากพื้นที่อย่างรวดเร็ว เพื่อลดปัญหาน้ำท่วมขังที่อาจจะส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนในพื้นที่
- จัดการน้ำเสียในพื้นที่: ระบบระบายน้ำเป็นส่วนสำคัญในการจัดการน้ำเสียจากบ้านเรือน โรงงาน อาคารต่าง ๆ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนในดินและลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งอาจทำให้ส่งผลกระทบอื่น ๆ ตามมาได้
- ป้องกันการกัดเซาะดิน: หากไม่มีระบบระบายน้ำที่ดี และมีประสิทธิภาพเพียงพอ อาจทำให้เกิดการไหลเซาะดิน ซึ่งส่งผลต่อสาธารณูปโภค โครงสร้างของอาคารบ้านเรือนได้ การฝังท่อระบายน้ำก็เพื่อช่วยควบคุมการไหลของน้ำ ทิศทางของน้ำ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบดังกล่าว
- สร้างสภาพแวดล้อมที่ดี: น้ำที่ถูกระบายออกอย่างเหมาะสม จะช่วยลดความเสี่ยงของน้ำขังที่ทำให้เกิดการเน่าเสีย ซึ่งช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค ด้วยการจัดการน้ำที่เหมาะสม ทำให้พื้นที่มีความสะอาด และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
- เกิดการพัฒนาพื้นที่: การมีระบบระบายน้ำที่ดีในพื้นที่ ช่วยให้พื้นที่นั้น ๆ เกิดการพัฒนาต่อได้อย่างเหมาะสม เพราะเมื่อไม่มีปัญหาน้ำท่วมขัง มีการจัดการน้ำที่ดี ไม่มีการเน่าเสีย ก็ทำให้มีการก่อสร้างโครงสร้างอื่น ๆ ที่ต้องการความมั่นคงปลอดภัย อย่างการทำถนน การสร้างอาคารบ้านเรือน เป็นต้น
5 สิ่งที่ควรให้ความสำคัญก่อนทำการฝังท่อระบายน้ำ
การเจาะฝังท่อระบายน้ำเป็นขั้นตอนสำคัญที่ต้องมีการดำเนินงานอย่างรอบคอบ เพื่อให้การระบายน้ำทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัย โดยต้องเริ่มจากการสำรวจพื้นที่บริเวณนั้น ๆ ซึ่งสิ่งสำคัญที่ควรทำการสำรวจก่อนเริ่มงานฝังท่อมีดังนี้
- การสำรวจพื้นที่และดิน: โดยสำรวจว่าพื้นที่บริเวณนั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร มีปัญหาน้ำขังที่ต้องแก้ไขหรือไม่ ลักษณะความลาดเอียง สูงต่ำของพื้นที่ จุดที่น้ำไหลผ่าน รวมถึงลักษณะของดินว่าเป็นดินแข็ง ดินอ่อน หรือดินที่เสี่ยงต่อการทรุดตัวหรือไม่ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงในการทำงาน
- ตรวจสอบระบบสาธารณูปโภคใต้ดิน: ทำการสำรวจจากแผนที่ระบบสาธารณูปโภค หรือสอบถามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบว่าในบริเวณนั้นมีท่อประปา ท่อก๊าซ สายไฟ หรือสายคมนาคมอื่น ๆ อยู่หรือไม่ เพื่อเลี่ยงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นเมื่อทำการฝังท่อ
- เลือกวัสดุ ขนาดของท่อที่เหมาะสม: เลือกใช้วัสดุของท่อที่เหมาะสม เช่น ท่อคอนกรีตสำหรับงานหนัก ที่ต้องรับปริมาณน้ำจำนวนมาก ท่อพีวีซีสำหรับพื้นที่ทั่วไป ต้องการความยืดหยุ่น และต้องเลือกขนาดท่อที่เหมาะสมกับน้ำที่ต้องการระบาย เพื่อป้องกันเรื่องท่ออุดตันและน้ำล้น
- การออกแบบระบบระบายน้ำ: วางแผนการติดตั้งท่อระบายน้ำ ตำแหน่งที่ตั้งทั้งจุดเริ่มต้น และจุดปลายทางของระบบระบายน้ำว่าจะไปในทิศทางใด รวมทั้งต้องกำหนดความลึก ปรับตามความลาดชัน เพราะน้ำจะไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ เพื่อให้ระบบทำงานได้อย่างราบรื่นตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง
- ความพร้อมของทีมงานและอุปกรณ์: ใช้ทีมงานมืออาชีพที่มีความเชี่ยวชาญในการเจาะ ติดตั้งท่อ และเชื่อมต่อระบบ รวมทั้งสำรวจเครื่องมือที่ใช้งาน ทั้งเครื่องมือในการขุดเจาะ เครื่องวัดระดับ อุปกรณ์ที่จำเป็นอื่น ๆ เพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ราบรื่น และปลอดภัยมากที่สุด
การเตรียมการอย่างรอบคอบก่อนจะเริ่มการฝังท่อระบายน้ำ เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างระบบระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพและใช้งานได้ในระยะยาว การให้ความสำคัญกับขั้นตอนและรายละเอียดต่าง ๆ ก่อนเริ่มฝังท่อระบายน้ำช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ทั้งในด้านความเสียหายของพื้นที่และประสิทธิภาพของระบบ การวางแผนอย่างรอบคอบตั้งแต่ต้นจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม
ระบบสุขาภิบาลในบ้าน การฝังท่อระบายน้ำภายในอาคาร รวมถึงระบบท่ออื่น ๆ
สำหรับการฝังท่อระบายน้ำภายในอาคารนั้นมีความซับซ้อน และต้องอาศัยความระมัดระวังอย่างมาก เนื่องจากต้องทำงานร่วมกับระบบอื่น ๆ เช่น ระบบน้ำประปา ระบบไฟฟ้า และยังต้องมาการเจาะฝังท่อภายในโครงสร้าง ซึ่งต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ วิศวกรในการทำงาน โดยระบบสุขาภิบาลในบ้านและการฝังท่อระบายน้ำภายในอาคารมีบทบาทสำคัญต่อความสะดวกและคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย การติดตั้งและดูแลระบบอย่างถูกต้องช่วยป้องกันปัญหาในระยะยาว ทั้งการอุดตัน การรั่วซึม และการเกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ การวางแผนล่วงหน้าและเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสมจะช่วยให้ระบบมีความยั่งยืนและใช้งานได้อย่างราบรื่น โดยระบบน้ำภายในบ้านหลัก ๆ ได้แก่
- ระบบท่อน้ำดี: ท่อน้ำประปา เป็นท่อที่นำน้ำสะอาดทั่วไปมาใช้ในชีวิตประจำวัน ลำเลียงน้ำไปสู่จุดต่าง ๆ ของบ้าน
- ระบบท่อน้ำทิ้ง: ใช้ลำเลียงน้ำที่ใช้แล้วออกไปทิ้ง ซึ่งอาจจะเป็นน้ำจากอ่างล้างหน้า น้ำจากพื้น น้ำฝนจากหลังคา เป็นต้น
- ระบบท่อโสโครก: ใช้ระบายสิ่งโสโครกต่าง ๆ จากโถส้วม ถังดักไขมัน ซึ่งเป็นน้ำที่ต้องถูกนำไปบำบัดน้ำเสียก่อนจะปล่อยออกสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ
- ระบบท่อระบายอากาศ: เป็นระบบท่อระบายอากาศภายในท่อน้ำทิ้ง ท่อโสโครกเพื่อให้ระบายน้ำออกได้อย่างรวดเร็ว และป้องกันกลิ่นย้อนกลับมารบกวน
สรุป
การฝังท่อระบายน้ำที่ได้มาตรฐานจะช่วยแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่เพียงแต่ป้องกันปัญหาน้ำท่วม น้ำขัง แต่ยังช่วยสร้างความปลอดภัย และช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี ซึ่งก่อนที่จะมีการเจาะฝังท่อ ก็ควรมีการดำเนินการอย่างรอบคอบจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้งานนั้นออกมาตรงความต้องการ ถูกต้องตามการใช้งานของพื้นที่ ซึ่งจะทำให้งานนั้นออกมามีประสิทธิภาพมากที่สุด และยังสามารถดำเนินการได้อย่างปลอดภัยอีกด้วย