การเจาะพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กเป็นงานที่ต้องใช้ความระมัดระวังและความชำนาญสูง เพราะพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กไม่ได้ออกแบบมาให้เจาะหรือปรับแต่งในภายหลัง การเจาะที่ผิดวิธีอาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างโดยรวม เช่น การลดความแข็งแรงของพื้น การเกิดรอยร้าว หรือแม้กระทั่งทำให้เกิดความเสียหายต่อโครงสร้างอาคารที่อาจเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัย ดังนั้นก่อนจะเจาะพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก ควรมีความเข้าใจในเรื่องความเสี่ยง วิธีการที่ถูกต้องในการเจาะ และข้อควรระวังเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งในบทความนี้เราจะพาทุกท่านไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับคอนกรีตเสริมเหล็ก และสิ่งที่ควรรู้ก่อนเจาะ เพื่อที่จะได้ทำงานได้อย่างปลอดภัย ไม่เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง
พื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการก่อสร้าง
พื้นเป็นส่วนสำคัญของสิ่งปลูกสร้างที่ต้องพิจารณาและวางแผนตั้งแต่การเริ่มก่อสร้าง โดยพื้นนั้นมีทั้งที่ติดกับดิน และพื้นลอยที่วางบนคานหรือเสา ซึ่งพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กก็มีทั้ง 2 ชนิดสำหรับการใช้งานที่ต่างกันออกไป โดยพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กประกอบไปด้วยวัสดุหลักคือคอนกรีต ซึ่งมีคุณสมบัติที่รับแรงอัดได้ดี และเหล็กเส้น ซึ่งจะฝังในคอนกรีต ทำหน้าที่รับแรงดึง ทำให้เป็นพื้นที่ช่วยถ่ายแรงร่วมกันอย่างสม่ำเสมอระหว่างเหล็กและคอนกรีต ซึ่งสามารถรับแรง และรับน้ำหนักได้ดี
ประเภทของพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กที่ใช้ในปัจจุบัน
- พื้นทางเดียว (One-Way Slab)
พื้นที่รับน้ำหนัก และถ่ายน้ำหนักไปยังคานในทิศทางเดียว โดยใช้เหล็กเสริมวางไปในทิศทางเดียวกับคาน โดยเหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีช่องคานไม่กว้างมาก มักใช้ในงานก่อสร้างพื้นระเบียงเล็ก ๆ มีข้อดีคือก่อสร้างง่าย ประหยัดวัสดุ แต่ไม่เหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีระยะระหว่างคานที่กว้างมาก - พื้นสองทาง (Two-Way Slab)
พื้นที่รับน้ำหนักและถ่ายน้ำหนักไปยังคานใน 2 ทิศทาง ซึ่งเหล็กจะถูกวางใน 2 ทิศทางเหมือนตารางหมากรุก เหมาะสำหรับพื้นที่ที่มีช่องคานขนาดใหญ่ โดยใช้ในงานก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ ข้อดีคือสามารถรับน้ำหนักได้มากกว่า และมีความยืดหยุ่นสูง - พื้นไร้คาน (Flat Slab)
พื้นคอนกรีตเสริมเหล็กที่ไม่มีคานรองรับ แต่ใช้วิธีการเทน้ำหนักไปที่เสาโดยตรง หรือเรียกว่าพื้นท้องเรียบ โดยจะใช้วิธีเสริมความแข็งแรงบริเวณรอบ ๆ เสาให้เพิ่มพื้นที่ในการรับน้ำหนัก นิยมใช้ในอาคารที่ต้องการพื้นที่โล่งโดยไม่ต้องมีคาน เหมาะสำหรับพื้นที่ที่ต้องการความสวยงาม - พื้นวางบนดิน (Slab on Grade)
พื้นคอนกรีตเสริมเหล็กที่วางอยู่บนพื้นดินโดยไม่มีคานรองรับ น้ำหนักจะถ่ายลงสู่พื้นดินโดยตรง ซึ่งเป็นการทำพื้นบ้านชั้นเดียว ลานจอดรถ พื้นที่โกดังต่าง ๆ แต่สิ่งที่ต้องระวังคือเมื่อมีการวางกับพื้นจะต้องระวังในเรื่องของดินทรุดในพื้นที่นั้น ๆ หากมีการทรุดตัวอาจจะต้องมีการทำใหม่ จึงควรมีการวางโครงสร้างให้ดีตั้งแต่แรก - พื้นกลวง (Hollow Core Slab)
พื้นสำเร็จรูปที่มีโพรงภายในเพื่อลดน้ำหนักของโครงสร้าง นิยมนำมาใช้ในการก่อสร้างอาคารสูง อาคารจอดรถ โกดัง โรงงาน และสะพาน โดยพื้นประเภทนี้มักมีความยาวมาก มีความหนาหลายรูปแบบให้เลือก ซึ่งรับน้ำหนักได้ดี อีกทั้งยังประหยัดเวลาในการทำงาน แต่ก็ต้องมีความเชี่ยวชาญ ความละเอียดในการติดตั้ง
เจาะพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก มีผลต่อโครงสร้างหรือไม่?
สำหรับการเจาะพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก มีผลต่อโครงสร้างอย่างแน่นอน ยิ่งถ้าหากไม่ได้มีการวางแผนในการทำงานที่ดี ไม่มีผู้เชี่ยวชาญดูแล รวมถึงการใช้อุปกรณ์ หรือวิธีการเจาะที่ไม่เหมาะสม ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาอีกมากมายเกิดขึ้น ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นได้มีดังต่อไปนี้
- ความแข็งแรงของพื้นลดลง: พื้นคอนกรีตเสริมเหล็กออกแบบมาให้รับน้ำหนักตามแบบโครงสร้าง หากมีการเจาะทะลุเหล็กเสริม จะทำให้แรงยึดเกาะของคอนกรีตและเหล็กเสริมลดลง ส่งผลให้ความสามารถในการรับน้ำหนักลดลงได้
- โอกาสเกิดรอยร้าวในบริเวณโดยรอบ: หากมีการเจาะพื้นแบบผิดวิธี อาจทำให้เกิดรอยร้าวรอบ ๆ รูเจาะ และอาจลุกลามไปยังบริเวณอื่น ๆ ซึ่งอาจมีปัญหาทางโครงสร้างในระยะยาว
- ความเสี่ยงจากการเจาะใกล้เสาและคาน: หากเจาะใกล้บริเวณเสาหรือคาน อาจทำให้เส้นเหล็กเสริมในเสาหรือคานถูกตัดขาด ทำให้การรับน้ำหนักลดลง และอาจทำให้โครงสร้างเกิดความเสียหายจนต้องมีการซ่อมแซม
- ความเสี่ยงด้านความปลอดภัย: หากการเจาะกระทบต่อความแข็งแรงของพื้นมากเกินไป อาจทำให้พื้นทรุดตัวหรือแตกร้าว ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้ที่อยู่ในอาคาร
- ความเสี่ยงต่อระบบงานอื่น ๆ: ในงานก่อสร้างมักมีการเดินท่อประปา ท่อไฟฟ้า และระบบสายไฟไว้ใต้พื้นคอนกรีต หากไม่ได้ตรวจสอบแบบแปลนก่อนเจาะ อาจเสี่ยงต่อการเจาะถูกท่อประปาหรือสายไฟ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาไฟฟ้าลัดวงจรหรือระบบน้ำรั่วซึม
จะรู้ได้อย่างไรว่าโครงสร้างได้รับผลกระทบจากการเจาะ?
หากโครงสร้างได้รับผลกระทบจากการเจาะ จะมีสัญญาณดังต่อไปนี้
- รอยร้าวรอบรูเจาะ: หากพบรอยร้าวรอบรูเจาะ ควรรีบซ่อมแซม
- พื้นแอ่นตัว: หากพื้นแอ่นตัวลงเล็กน้อย อาจเกิดจากโครงสร้างอ่อนแอลง
- เสียงแตกร้าวหรือเสียงคลิก: เสียงนี้มักเกิดจากเหล็กเสริมที่อาจได้รับผลกระทบจากการเจาะ
สิ่งที่ต้องรู้ และข้อควรระวังก่อนทำการเจาะพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก
การเจาะพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะความเชี่ยวชาญและเครื่องมือที่เหมาะสม เพราะพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กไม่ได้ออกแบบมาให้เจาะหรือปรับเปลี่ยนได้ง่าย ๆ หากเจาะผิดวิธีหรือไม่รอบคอบ อาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้าง เสี่ยงต่อการเกิดรอยร้าว หรือส่งผลต่อความปลอดภัยของอาคารได้ ดังนั้นก่อนเริ่มเจาะพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก จำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และปฏิบัติตามข้อควรระวังเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการเจาะ โดยมีสิ่งที่ต้องรู้ดังนี้
- รู้ตำแหน่งของเหล็กเสริมภายในพื้น
ก่อนทำการเจาะพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก ต้องรู้ตำแหน่งของเหล็กเสริมที่อยู่ในนั้น เพราะการเจาะไปชนเหล็กเสริมอาจทำให้เครื่องเจาะติดขัด หัวเจาะเสียหาย หรือทำให้โครงสร้างพื้นอ่อนแอลง โดยวิธีการตรวจสอบตำแหน่งสามารถใช้เครื่องสแกนเพื่อหาตำแหน่งภายในของพื้นได้ - เข้าใจลักษณะของพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก
พื้นคอนกรีตเสริมเหล็กมีหลายประเภท พื้นแต่ละประเภทมีการเสริมเหล็กในรูปแบบที่ต่างกัน เช่น พื้นสองทางมีเหล็กเสริมทั้งในแนวยาวและแนวกว้าง การเจาะในพื้นแบบนี้จึงต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น - ประเภทของเครื่องมือเจาะที่ใช้
เครื่องมือที่นิยมใช้ในการเจาะพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กคือเครื่องเจาะหัวเพชร (Diamond Core Drill) เนื่องจากสามารถเจาะผ่านคอนกรีตและเหล็กเสริมได้โดยไม่ทำให้พื้นแตกร้าว โดยหลีกเลี่ยงการใช้ สว่านกระแทก (Hammer Drill) เพราะแรงกระแทกอาจทำให้พื้นเกิดรอยร้าวและลุกลามไปยังส่วนอื่นของโครงสร้าง - รู้ขนาดและความลึกของรูเจาะ
ขนาดของรูเจาะ และความลึกต้องถูกกำหนดให้ชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อหลีกเลี่ยงการเจาะที่ลึกเกินไปจนส่งผลกระทบต่อโครงสร้างชั้นล่าง โดยควรมีการประเมินจากวิศวกรโครงสร้างเพื่อทำการเจาะ - ตรวจสอบระบบงานใต้พื้น
พื้นคอนกรีตมักมีระบบท่อประปา ท่อระบายน้ำ และสายไฟฟ้าที่ฝังอยู่ หากเจาะโดยไม่รู้ตำแหน่งของท่อ อาจทำให้ท่อแตกหรือสายไฟขาด ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายที่ต้องซ่อมแซมเพิ่ม ควรใช้เครื่องมือที่สามารถตรวจสอบตำแหน่งของระบบงานได้ - การใช้ระบบน้ำหล่อเย็นและป้องกันฝุ่น
ระหว่างเจาะจะเกิดความร้อนสูงซึ่งอาจทำให้หัวเจาะสึกหรอได้ น้ำหล่อเย็นจึงจำเป็นเพื่อช่วยระบายความร้อนและลดการสึกหรอของหัวเจาะ การใช้น้ำหล่อเย็นยังช่วยลดฝุ่นที่เกิดจากการเจาะ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน
บทสรุป
การเจาะพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กไม่ใช่เรื่องที่ทำได้โดยไม่วางแผน การไม่รอบคอบอาจทำให้โครงสร้างเสียหาย รอยร้าวลุกลาม หรืออาจก่อให้เกิดอันตรายได้ การเตรียมตัวที่ดี ตรวจสอบตำแหน่งเหล็กเสริม ระบบท่อ และสายไฟ รวมถึงการเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสม จะช่วยให้การเจาะเป็นไปอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ หากต้องการเจาะในจุดสำคัญ เช่น บริเวณใกล้เสา คาน หรือรูขนาดใหญ่ แนะนำให้ปรึกษาวิศวกรโครงสร้างเพื่อป้องกันความเสียหายต่ออาคารและลดความเสี่ยงจากความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ ที่ KNprogress เราให้บริการรับงานด้านวิศวกรรมทั้งสแกน ตัด เจาะ ก่อสร้างต่าง ๆ ผ่านทีมงานวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญมามากกว่า 15 ปี ที่พร้อมดูแลหน้างานในระดับมืออาชีพ พร้อมแก้ไขปัญหาทุกด้านที่เกิดขึ้น